วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Timeline Thailand 2475

Timeline Thailand 2475

2475-2489

ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ

หมุดแสดงจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า

..............................................

2475

*ก่อน พ.ศ.2482 ประเทศไทยเริ่มนับปีใหม่ที่เดือน เมษายน และสิ้นปีที่เดือน มีนาคม

การเมือง

- 24 มิถุนายน การปฏิวัติสยาม โดย คณะราษฎร ผู้นำฝ่ายทหารคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำฝ่ายพลเรือนคือ ปรีดี พนมยงค์ ประกาศหลักหกประการ การกระทำนี้นับเป็นยกแรกของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างความคิดเก่าและใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ที่จะผูกพันยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้สุธาชัย ยิ้มประเสริฐได้แบ่งกลุ่มทางการเมือง 4 กลุ่มใหญ่ หลังพ.ศ.2475 คือ คณะราษฎร คณะเจ้า ขุนนางเก่าซึ่งหมายที่จะลดอำนาจกษัตริย์และกระแสปฏิวัติ และกลุ่มส.ส.ประเภทที่ 1 (เลือกตั้งโดยตรง) [1]

- 27 มิถุนายน ร.7 ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม พุทธศักราช 2475 (ชั่วคราว) และวันต่อมา เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ส.ส. มีจำนวน 70 คน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภา พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) [2]

- 15 สิงหาคม จัดตั้ง สมาคมคณะราษฎร อย่างเป็นทางการ มีพระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นนายกสมาคม [3]

- 7 มกราคม พระยาโทณวณิกมนตรีและคณะรวม 12 คน ยื่นหนังสือขอจดทะเบียน สมาคมคณะชาติ ในแบบเดียวกับ สมาคมคณะราษฎร [4]

- 25 และ 28 มีนาคม คณะรัฐมนตรีพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยมีพระบรมราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 7 เป็นเอกสารประกอบการประชุม และที่ประชุมส่วนใหญ่ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ[5] และต่อมาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ ถือเป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์

..............................................

2476

การเมือง

- 1 เมษายน รัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ด้วยเหตุผลว่า ...ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันเป็นคอมมิวนิสต์[6] ถือกันว่าเป็นรัฐประหารครั้งแรก

- 20 มิถุนายน คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนเข้ายึดอำนาจ ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่ง ต่อมา 24 มิถุนายน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายนกรัฐมนตรี [7]

- 1 ตุลาคม เริ่มดำเนินการเลือกตั้งในทางอ้อมเป็นครั้งแรกในสยาม ใช้เวลาจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน จึงทราบผลทั้งหมด มีผู้แทนราษฎรรวม 78 คน มีผู้มาลงคะแนนรวม 1,773,523 คน คิดเป็นร้อยละ 40.45 [8]

- 11-25 ตุลาคม คณะกู้บ้านเมือง หรือ กบฏบวรเดช [9] นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช นำกำลังทหารลุกขึ้นสู้ ตั้งทัพอยู่ที่ โคราช นครราชสีมา และคณะกู้บ้านเมืองรุกคืบมาถึงบริเวณดอนเมือง อาจเรียกได้ว่า เป็นสงครามกลางเมือง สุดท้ายก็โดนปราบปราม โดยการนำทางทหารโดย ป.พิบูลสงคราม ทั้งสองฝ่ายสูญเสียชีวิตไปไม่น้อย ต่อมารัฐบาลได้สร้าง อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไว้บริเวณหลักสี่ บางเขน หลังจากกรณีนี้แล้ว เดือนมีนาคมสิ้นปี มีการจับกุม อุทัย วิวัฒนานนท์ ลี สารนุศิษย์ ขุนไสวมัณยากาศ (ไสว มัณยากาศ) และคณะ ยังมีการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มต่างๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป

- 12 มกราคม รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศเป็นครั้งที่ 4 และไม่เสด็จกลับสยามอีกเลย [10]

ท้องถิ่น

- รัฐบาลออก พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 มีการแบ่งราชการบริหารเป็น 3 ส่วนได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นนี้เพื่อสอดคล้องกับ สมัยประชาธิปไตยซึ่งนิยมให้ราษฎร มีส่วนมีเสียงในการปกครองท้องถิ่นของตน[11] ส่วนหนึ่งก็เพื่อ ให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามไปในตัว และ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภาฯนี้ต่อไป [12]

- 31 มีนาคม รัฐบาลก็ตรา พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ออกเป็นกฎหมาย [13] โดยใช้ลักษณะแบบ สภา นายกเทศมนตรี (the Council – Mayor Form) ที่สภามีอำนาจเข้มแข็ง เช่นเดียวกับหลักการธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 [14]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 13 พฤษภาคม รัฐบาลได้ตั้งกองโฆษณาการขึ้น เป็นหน่วยงานขึ้นต่อคณะรัฐมนตรี 9 ธันวาคม เปลี่ยนจากกองโฆษณาการไปเป็น สำนักงานโฆษณาการ [15]

..............................................

2477

การเมือง

- รัฐได้ทำการกวาดล้างกลุ่มที่เป็นอันตรายได้แก่ เดือนสิงหาคม จับกุมไถง สุวรรณทัต จ่าเอกจอน ชีวะกานนท์ พ.ต.หลวงสงครามวิจารณ์ (มูล ไวสืบข่าว) และคณะรวม 9 คน ในข้อหากบฏล้มรัฐธรรมนูญ ต่อมาก็ได้จับกุม พล.ร.ต.พระวินัยสุนทร (วิม พลกุล) โชติ คุ้มพันธุ์ ม.จ.วิเศษศักดิ์ ชยางกูร ธรรมนูญ เทียนเงิน และคณะรวม 12 คน เดือนตุลาคม จับกุม พล.ท.พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดินฯ) ส.ส.พระนคร เดือนมีนาคม จับกุม พล.ต.พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดินฯ) หลวงสิทธิบรรณการ (สำเนียง สิทธิสุข) และ ร.อ.หลวงวรภักดิ์ภูบาล (ม.ล.อาจ สุริยกุล) [16]

- 22 กันยายน ด้วยความที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบ สภาดังกล่าวไม่เห็นชอบกับญัตติเรื่อง การควบคุมการจำกัดยางนายกรัฐมนตรี คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ลาออก แต่ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯอีก [17]

- 23 กุมภาพันธ์ พุ่ม ส่งสายทอง ลอบยิง หลวงพิบูลสงคราม ตำรวจได้จับกุม พ.ต.อ.พระยาธรณีนฤเบศร์ (พิทย์ ผลเตมีย์) เป็นผู้ต้องหาสำคัญ [18]

- 2 มีนาคม รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 8 ยุวกษัตริย์ พระชนมายุได้ 8 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ

ท้องถิ่น

- ปลายปี พ.ศ.2477 จนถึง กรกฎาคม พ.ศ.2478 รัฐบาลได้จัดตั้งสภาจังหวัดครบถ้วนทั้ง 70 จังหวัด [19]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- ได้มีการแต่งเพลงชาติเป็นเพลงแรก โดยพระเจนดุริยางค์เป็นคนแต่งทำนอง ขุนวิจิตรมาตราเป็นคนแต่งเนื้อร้อง ในปีถัดมาก็ได้เพิ่มเติมเนื้อร้องที่แต่งโดยนายฉันท์ ขำวิไลด้วย เพลงชาติรุ่นนี้ใช้มาถึงปี 2482 เนื้อร้องสะท้อนลัทธิชาตินิยม ที่กล่าวถึง ความสามัคคี เลือด เอกราช แต่ก็ใช้คำทั้งสยาม และไทยคู่กันไป [20]

การศึกษา

- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ปีนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยของคณะราษฎรสู่สังคมไทย [21] ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

..............................................

2478

การเมือง

- 24 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบสามปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเริ่มถือกันว่าเป็น วันชาติ มีใจความว่า ชีวิตของชาติเหมือนกับร่างกายของบุคคล และชาติจะเจริญได้ย่อมต้องอาศัยร่างกายของชาติในทุกส่วน [22]

- จับกุมกบฏนายสิบ สิงหาคม 2478 ที่เป็นกลุ่มนายสิบประจำกองพันทหารราบที่ 2 มีการลงโทษประหารชีวิต 1 คน ซึ่งเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมสารภาพผิด [23]

ท้องถิ่น

- ปลายปีนี้ รัฐบาลดำเนินการจั้งสภาเทศบาลขึ้น 45 แห่งโดยรัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคล และกระทวงเทศบาลจะเป็นผู้คัดเลือก ในเงื่อนไขที่บุคคลจำกัด อาจจะมีการคัดเลือกให้บุคคลที่เป็นสมาชิกสภาจังหวัด ก็อาจถูกคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลอีกด้วย [24]

..............................................

2479

การเมือง

- ตุลาคม จับกุม ร.ท.ณเณร ตาละลักษมณ์ ทองดี จันทรกุล และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆ รวม 9 คน ในข้อหากบฏ[25]

- ออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ให้อยู่ในการดูแลโดยเด็ดขาดของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง หลังจากมีพ.ร.บ.นี้แล้วในปีครึ่งต่อมา กระทรวงการคลังได้จัดตั้ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะหน่วยงานภายใน(ระดับกอง) ของกระทรวงการคลัง [26]

ท้องถิ่น

- กลางเดือนกรกฎาคม กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดตั้งสภาจังหวัด สมัยที่ 2 ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่ บุคคลที่พลเมืองเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 ผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง สมัยนี้เน้นไปที่คุณสมบัติของบุคคลอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภาเทศบาล การดำเนินงาน หรือการเมือง หรือไม่ก็ดึงกลุ่มอำนาจท้องถิ่นเก่า และผู้นำชุมชน ในกรณีภาคใต้อาจจะเป็นผู้นำทางศาสนา ทางภาคเหนืออาจจะเป็นตระกูลเชื้อสายเจ้า [27]

- ปลายปี รัฐบาลประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2479 ใกล้ๆกับการเลือกตั้งและแต่งตั้งสภาเทศบาล สมัยที่ 2 การเลือกตั้ง สมัยที่ 2 ทั้งสภาจังหวัดและสภาเทศบาลถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น [28]

..............................................

2480

การเมือง

- 9 สิงหาคม พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกจากตำแหน่งอีกครั้ง เนื่องจากมีกระทูถามการซื้อขายที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง [29]

- สิงหาคม จับกุม หลวงศิริราชทรัพย์ (ไชย โมรากุล) และคณะรวม 13 คน อันเนื่องมาจากข้อหากบฏต่อรัฐธรรมนูญ [30]

- 7 พฤศจิกายน เลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 เป็นการเลือกทางตรง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 91 คน มีผู้ลงคะแนน 2,463,535 คน คิดเป็นร้อยละ 40.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง [31]

..............................................

2481

การเมือง

- 12 พฤศจิกายน เลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 เป็นการเลือกทางตรง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 91 คน มีผู้มาลงคะแนน 2,210,332คน คิดเป็นร้อยละ 35.03 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง [32]

- 16 ธันวาคม นายพันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรี รวม 25 คน [33] และเป็นคณะราษฎรถึง 18 คน ว่ากันว่านับแต่นี้ไปเป็นหมุดหมายที่เป็น

ยุคแห่งอำนาจคณะราษฎร [34]

- เดือนธันวาคม หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกทางวิทยุกระจายเสียงถึงประชาชนชาวไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรี [35] สุธาชัย ให้ความเห็นว่า รัฐบาล ป.พิบูลสงครามมีลักษณะทวิลักษณ์คือ มีลักษณะก้าวหน้าที่ก้าวหน้าอันเป็นผลพวงจาก ปฏิวัติพ.ศ.2475 ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบชาตินิยม [36]

- 9 พฤศจิกายน ลี บุญตา คนรับใช้ หลวงพิบูลสงครามเอง ลอบยิง แต่ หลวงพิบูลสงครามไม่ได้รับอันตราย ในเดือนมกราคม หลวงพิบูลสงครามก็เริ่มกวาดล้างใหญ่ ดำเนินการจับกุมไปถึงเดือนเมษายน [37]

- 2 กุมภาพันธ์ รัฐบาลเสนอร่าง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2481 โดย นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม [38]

เศรษฐกิจ

- รัฐบาลเริ่มตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจให้กับคณะราษฎร ได้แก่ บริษัทข้าวไทย (2481) บริษัทไทยนิยม (2481) บริษัทจังหวัด (2482) ธนาคารเอเซีย (2482)

ท้องถิ่น

- หลังจากเทศบาลถูกจัดตั้งขึ้น คณะเทศมนตรีหลายแห่งประสบปัญหา เสถียรภาพของสภาเทศบาล เนื่องมาจาก การขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้กิจการเทศบาลไม่ก้าวหน้า และหยุดชะงักอยู่มาก ในที่สุดรัฐบาลจึงเสนอ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2481 วางโครงสร้างองค์กรเทศบาลใหม่ ให้เปลี่ยนรูปแบบของเทศบาลเป็นแบบคณะกรรมการ (the Commission Form) กำหนดให้เทศบาลมีองค์เดียวที่มีอำนาจทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและในฝ่ายบริหาร [39] โดยลดอำนาจการควบคุมสมาชิกสภาเทศบาล ไม่ให้อำนาจในการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ [40]

..............................................

2482

การเมือง

- เดือนเมษายน จากการกวาดล้างจากปีที่แล้วมีรายงานว่า ผู้ถูกตรวจค้น สอบสวน และจับกุมมีจำนวนนับร้อยคน การกวาดล้างครั้งนี้ทำให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการถอนรากถอนโคนกลุ่มของพระยาทรงสุรเดชเป็นหลัก ผู้ต้องหาคดีนี้ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดี 52 คน ถูกลงโทษประหารชีวิต 18 คน ถูกจำคุกตลอดชีวิตมี 3 คน คือ พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ซึ่งเป็นคณะราษฎรฝ่ายทหารบก พล.ท.พระยาเทพหัสดิน และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสรัชกาลที่ 5 และยังถูกถอดบรรดาศักดิ์ด้วย [41]

- 24 มิถุนายน เปิดศักราชใหม่ของการเมืองไทย วันนี้ตรงกับการเปิดประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงกล่าวในตอนหนึ่งว่า ประเทศ ได้เอกราชสมบูรณ์มาแล้ว ในวันดังกล่าวยังได้มีการสวนสนามทหารฉลองสนธิสัญญาชุดใหม่ ณ ปะรำพิธีลานพระบรมรูปทรงม้า [42]

- ในวันที่ 24 เช่นกัน ได้มีการประกาศรัฐนิยมฉบับแรก เนื้อหาคือ การเปลี่ยนชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ จาก สยามมาเป็นไทย วันเดียวกันนั้น รัฐบาลถือเป็นวันเฉลิมฉลองการทำสนธิสัญญากับนานาประเทศใหม่ ซึ่งมีนัยคล้ายกับ การประกาศเอกราช รวมทั้งยังถือวันนี้เป็นวันทำพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้วย[43] การสร้างคำอธิบายที่ให้ความหมายใหม่ของรัฐชาติ ประชาชน และเอกราชดังกล่าว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุคสมัย แต่ปัจจุบันความเข้าใจและรับรู้ดังกล่าว ถูกกรอบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแทบจะเบียดตกขอบไปแล้ว

- หลวงพิบูลสงคราม ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี[44]

- มีการฟ้องร้องคดีอดีตกษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ในปีนี้ ให้พระองค์ชดใช้เงินคืนแก่กระทรวงการคลังเป็นจำนวนกว่า 6 ล้านบาท ในเรื่องที่พระองค์ได้โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ไว้ในต่างประเทศระหว่างช่วงพ.ศ.2475-2476 และศาลได้สั่งยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศไว้ การกระทำของรัฐบาลได้ยกเลิกประเพณีตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวพันกับความศักดิ์สิทธิ์และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ลง เช่น ยกเลิกตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาการและกระทรวงวัง โดยให้มีฐานเป็นเพียงราชเลขาธิการและผู้สำเร็จราชการวัง ยกเลิกพระราชพิธีต่างๆ เช่น พิธีพยุหยาตราทางสถลมารค และชลมารค พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เปลี่ยนแปลงราชบัณฑิตสภา เป็น ราชบัณฑิตสถาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังห้ามติดพระบรมรูปของรัชกาลที่ 7 และรัฐบาลยังได้สั่งงดจ่ายเงินรายปีแก่เจ้านายจำนวน 22 พระองค์ [45]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศ ได้มีการประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ทำนองเดิม หลวงสารานุประพันธ์ที่แต่งส่งเข้าประกวดในนามกองทัพบก ได้รับการคัดเลือก [46] ซึ่งก็คือ เนื้อเพลงชาติไทยในปัจจุบัน

- ละครที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และแสดงในปีนี้ ก็คือ น่านเจ้า เป็นเรื่องของอาณาจักรไทยในน่านเจ้า (ยูนนาน) ที่ถูกจีบ (กุบไลข่าน-ราชวงศ์มองโกล) รุกรานซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกต่อต้านจีนในประเทศขณะนั้น ทำให้ไทยต้องถอยร่นสู่แหลมทอง ละครเรื่องนี้ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า เป็นจุดสุดยอดของลัทธิชาตินิยมในแง่ของเผ่าพันธุ์ไทยและความรักในอิสรภาพ ละครเรื่องนี้ทรงพลังอย่างมหาศาลในการสร้าง การรับรู้ ของคนไทยว่ามาจาก น่านเจ้า ที่ยังเป็นความเชื่ออันทรงพลังในหมู่คนไทยไปอีกนาน แม้จะมีการปฏิเสธเชิงทฤษฎีอย่างแข็งขันในแวดวงวิชาการก็ตามที [47]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- ในปีนี้ เริ่มกระจายเสียง รายการสนทนาของนายมั่น ชูชาติ และนายคง รักไทย หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า รายการนายมั่น-นายคง มีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้แก่รัฐบาลในช่วงของการเรียกร้องดินแดน พ.ศ.2483 รายการดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มของ นายสังข์ พัธโนทัย และพระราชธรรมนิเทศ รายการนี้เป็นบทสนทนาโต้ตอบพูดคุยด้วยภาษาง่ายๆ ประกอบเพลงและดนตรีปลุกใจ รายการยาวประมาณ 30 นาที และออกกระจายเสียงเวลาประมาณ 19.00 น. บางครั้ง ป.พิบูลสงครามก็ส่งหัวข้อและแนวทางมาร่วมรายการด้วย ที่รู้จักกันดีว่า ซองเหลือง มา [48]

ท้องถิ่น

- รัฐบาลตรา พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหลังจากพ.ร.บ.นี้ เทศบาลจะประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 1 เท่านั้น [49]

..............................................

2483

*ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่วันขึ้นปีใหม่เริ่มที่ 1 เมษายน และสิ้นปีที่วันที่ 31 ธันวาคม ปีนี้จึงมีเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น

การเมือง

- นโยบายสร้างชาติ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม บนรากฐานลัทธิชาตินิยมไทย โดยมี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) เป็นผู้ช่วยสำคัญ ทั้งยังได้กำหนดแบบแผนปฏิบัติที่เรียกว่า รัฐนิยม ขึ้นและตราออกมาเป็นกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมที่ประชาชนไทยต้องปฏิบัติตาม พ.ศ.2484 [50]

- 24 มิถุนายน พิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างเสร็จ พร้อมกับการเปิดอนุสาวรีย์ ก็ได้มีการวางหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าอีกด้วย [51]

- 8 ตุลาคม นิสิตจุฬากว่า 3,000 คน เดินขบวน เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ไปยังบริเวณกระทรวงกลาโหม และต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม ประชาชนเดินขบวนในกรณีเดียวกันไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และวันที่ 29 พฤศจิกายน ก็เป็นการชุมนุมของประชาชนกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงหลายหมื่นคน [52] นับว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของมวลชนเป็นครั้งแรกๆในประเทศไทย ซึ่งความตึงเครียดนี้ ต่อมาผลักดันให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศส

- พฤศจิกายน 28 มกราคม เกิดสงครามเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส ยุติลงเมื่อญี่ปุ่นเจ้ามาไกล่เกลี่ยให้ ไทยได้ส่วนหนึ่งของเสียมราฐ จำปาศักดิ์ และฝั่งขวาของแม่น้ำโขง [53]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- หลวงวิจิตรวาทการ สร้างสรรค์ละครที่เป็นการผสมผสานระหว่างการร่ายรำแบบเดิมให้เข้ากับบทเจรจา ความรักชาติ และกระแสชาตินิยมร่วมสมัย รวมทั้งการร้องเพลงในแบบสากล เกิดละครกรมศิลปากรเรื่องต่างๆ ดังนี้ เลือดสุพรรณ (2479) พระราชมนู (2479) พระเจ้ากรุงธน (2480) ศึกถลาง (2480) เจ้าหญิงแสนหวี (2481) มหาเทวี (2481) น่านเจ้า (2482) อนุสาวรีย์ (2482) พ่อขุนผาเมือง (2483) [54]

- ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้สร้างภาพยนตร์ขาวดำ เสียงภาษาอังกฤษในฟิล์ม เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เพื่อสื่อประเด็นสันติภาพ ที่ไม่ต้องการสงคราม และการที่มิให้ คนไทย ต้องลุกขึ้นจับอาวุธให้เดือนร้อนกันทั่ว [55]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- ได้ยกฐานะสำนักงานโฆษณาการ เป็น กรมโฆษณาการ (เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ปี 2495) [56]

..............................................

2484

*จากปีนี้ไปเริ่มนับปฏิทินใหม่วันขึ้นปีใหม่คือ วันที่ 1 มกราคม

การเมือง

- 1 มกราคม - ครั้งแรกของประเทศไทยที่กำหนดให้วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ หลังจากเคยใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาก่อนหน้านี้ [57]

- 17 มกราคม - ยุทธนาวีเกาะช้าง : กองเรือรบราชนาวีไทยเข้าปะทะต่อสู้กับกองเรือรบฝรั่งเศส ที่ล่วงล้ำเข้าสู่น่านน้ำด้านจังหวัดตราด ต่อมา 9 พฤษภาคม - ประเทศไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส[58] ไทยได้ดินแดนจากอาณานิคมฝรั่งเศสกลับคืน

- พลตรีแปลก ได้เลื่อนยศเป็น จอมพล[59] เดิมกระทรวงกลาโหมขอเลื่อนยศเพียงแค่ พลเอก แต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้อนุมัติให้เป็นจอมพล อันเนื่องมาจากเกียรติยศกรณี เรียกร้องดินแดน นั่นเอง[60] แต่อาจด้วยเป็นเพราะเหตุนี้ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลำพองมากขึ้นจากคำให้การของ พ.ต.ท.ชลอ ศรีศรากร (ขุนศรีศรากร) ผู้ก่อการคณะราษฎร และอดีตคนสนิทที่ว่า

...ตอนต้นจำเลย (หลวงพิบูลสงคราม) บริหารราชการดีมาก ฟังความเห็นเพื่อนฝูง คณะรัฐมนตรีกลมเกลียวกันดี แต่เมื่อได้ดินแดนคืนแล้วจำเลยเป็นจอมพล ทำอะไรๆ โดยพลการ ไม่ฟังความคิดเพื่อนฝูง [61]

พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีให้การว่า

ข้าฯ ทราบว่าหลวงวิจิตรวาทการได้เคยทำบันทึกเรื่องลัทธินาซีและฟาสซิสม์ว่าดีอย่างไร และพิมพ์เป็นโรเนียวแจกให้จอมพล ป. ในตอนต้นๆ สังเกตว่า จอมพล ป. ยังไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินการตามลัทธิทั้งสองดังกล่าว แต่ภายหลังที่ได้รับยศเป็นจอมพลแล้ว สังเกตว่าจอมพล ป. ขะมักเขม้นที่จะดำเนินการเผด็จการตามลัทธิทั้งสองนั้น [62]

- 6 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ [63]

- 8 ธันวาคม - สงครามมหาเอเชียบูรพา : กองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาทางด้านจังหวัดพิบูลสงคราม และยกพลขึ้นบกจากอ่าวไทย เพื่อขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปสู่พม่าและมลายู จากนั้นมาคนไทยทั้งในและนอกประเทศร่วมกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านการรุกราน[64]

- 10 ธันวาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาประกาศไม่ยอมรับ

ว่าจะไม่ยอมรับรองรองการยอมแพ้ของรัฐบาลไทยต่อญี่ปุ่น และจะดำเนินการต่อต้านไปตามหน้าที่ในกฎหมาย

ถือเป็นคำประกาศแรกของเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา ที่น่าสังเกตก็คือว่า เป็นการประกาศก่อนหน้าที่ไทยจะประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ[65]

- ขณะนั้นภายในรัฐบาลเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายที่นิยมอักษะในวงการรัฐบาลประกอบด้วย วนิช ปานะนนท์ วิจิตร วิจิตรวาทการ และ พ.อ.ประยูร ภมรมนตรี ขณะที่ถอดถอนบุคคลที่ไม่นิยมญี่ปุ่นออก เช่น วิลาศ โอสถานนท์ จากอธิบดีกรมโฆษณา เมื่อ 15 ธันวาคม ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคัดค้านการให้ญี่ปุ่นกู้เงิน ก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในวันถัดมา [66] และปรีดี พนมยงค์นี้เองที่จะตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศ หรือเสรีไทยภายในประเทศนั่นเอง กลุ่มนี้ประกอบด้วย กลุ่มก้าวหน้าใน ส.ส.ประเภทที่ 1 กลุ่มที่แยกตัวออกมาจากการสนับสนุนรัฐบาลจอมพล ป. คือ ฝ่ายทหารเรือ กลุ่มตำรวจ[67]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- รัฐบาลจัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ [68]

..............................................

2485

การเมือง

- คำกล่าวของ จอมพล ป.พิบูลสงครามในปีนี้ที่น่าสนใจยิ่ง ที่สะท้อนเห็นความเป็นนักการเมืองไทยคนแรกในสมัยใหม่ที่ทำให้คำว่า ผู้นำ เป็นคำที่มีความหมาย ก็คือ

ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่ คือ พระเจ้าแผ่นดินของเขา ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน มี

ที่อยู่ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คน

เลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ เวลา

บ้านเมืองคับขันจะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี [69]

- 25 มกราคม รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา[70]

- กุมภาพันธ์ นักเรียนไทยในอังกฤษก็รวมกันตั้งเป็นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น กลุ่มเสรีไทยในอังกฤษในระยะต่อมายินยอมให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นหัวหน้าคณะ[71]

- พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศ พระบรมราชโองการฯ ยกเลิกบรรดาศักดิ์เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชื่อนามสกุลกันมาก [72]

- 26 พฤษภาคม กองทัพไทยยึดนครเชียงตุง สหรัฐไทยใหญ่ หรือแคว้นชาน ตามกติกาสัญญาไมตรีในหลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อสถาปนาวงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียตะวันออก [73]

เศรษฐกิจ

- กระทรวงการคลังจัดงบพิเศษในช่วงคับขันถึง 60 ล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ.2484 ใช้ 56 ล้านบาท พ.ศ.2482 เป็นเงินเพียง 22 ล้านบาท ปรีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า

ในปี 2485 เป็นปีที่มีงบประมาณรายรับรายจ่ายเป็นจำนวนสูงสุดในประวัติการณ์ของชาติ...ความสำคัญก็มีอยู่เพียง 2 ประการ คือ การสร้างชาติ การป้องกันชาติ...ในการสร้างชาติให้วัฒนาถาวร ทางรัฐบาลได้เอาใจใส่อยู่ขะมักเขม้นแล้ว สำหรับการป้องกันชาตินั้น เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในขณะนี้ป่วนปั่นและคับขันยิ่งขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายยึดหลักเป็นมิตรดีต่อทุกประเทศเพื่อดำรงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด มุ่งหวังสันติตลอดมา รัฐบาลเห็นว่า เราจะอยู่เป็นอิสระโดยขาดการป้องกันไม่ได้ ด้วยความไม่ประมาท รัฐบาลจึงได้ตระเตรียมการด้านอื่นๆ ตามความจำเป็นแล้ว ในการนี้จำจะต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายด้วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากท่านทั้งหลายเป็นอย่างดี ที่ได้ยอมให้ตั้งงบประมาณพิเศษไว้ 60 ล้านบาท [74]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- รัฐบาลมีคำสั่งให้ทุกจังหวัดต้องมีวิทยุกระจายเสียงเปิดให้ประชาชนรับฟังได้อย่างทั่วถึง จังหวัดใดไม่มีถือว่าผิดคำสั่ง ในสมัยนั้นรัฐบาลพยายามชักชวนให้ประชาชนฟังวิทยุอีกด้วย [75]

..............................................

2486

การเมือง

- กุมภาพันธ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วเปลี่ยนใจไม่ลาออก [76]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- ป. พิบูลสงครามอาจเป็นนายกรัฐมนตรีที่ออกรายการพูดวิทยุกระจายเสียงมากกว่านักการเมืองคนอื่นๆ สถิติพ.ศ.2478-2486 ได้พูดกระจายเสียงถึง 80 ครั้ง ไม่นับบทความในนามปากกา สามัคคีชัย ที่เขียนออกรายการอีกต่างหากในช่วงพ.ศ.2485-2486 อีก 88 บทความ [77]

ท้องถิ่น

- รัฐบาลออกพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2486 กำหนดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดในฐานะข้าราชการจากส่วนกลางที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในท้องที่ต่างๆ มีอำนาจในการเข้ามาควบคุมดูแลเทศบาล ไม่ว่าจะแต่งตั้งและการถอดถอนสมาชิกสภาเทศบาล และคณะเทศมนตรี [78] เนื่องจากมองเห็นว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร น่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เทศบาลไม่อาจบริหารงานได้เท่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้เทศบาลเดินไปแนวทางที่ ถูกต้อง และ เหมาะสม ตามความต้องการของรัฐบาล [79]

..............................................

2487

การเมือง

- 24 มีนาคม จอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพ่ายแพ้เสียงในสภา กรณี พระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล ที่ตั้งเขตมณฑลทางพุทธศาสนาขึ้น [80] ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มส.ส.ที่รวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนาในการต่อต้านจอมพล ป.พิบูลสงครามและญี่ปุ่นนั่นเอง

- 28 กรกฎาคม ควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี [81] ขัดตาทัพดำเนินการนโยบาย 2 หน้า คือ เจราจากับญี่ปุ่น และสนับสนุนเสรีไทย

- แม้จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้วก็ตาม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจสั่งการสามเหล่าทัพได้ และยังสมารถสั่งการปกครองได้ทุกกระทรวง ทบวง กรม จอมพล ป.ได้ตั้งมั่นกำลังทหารอยู่ที่ลพบุรี มีแนวโน้มว่าจะยึดอำนาจคืน [82]

- 24 สิงหาคม รัฐบาลได้ปลด จอมพล ป.ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยตั้งให้เป็น ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พร้อมทั้งยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด[83]

- หลังจากที่รัฐบาลควง ขึ้นบริหารประเทศ จึงถอดถอนอำนาจจอมพล ป. แยกสลายการสนับสนุนทางทหาร และล้มล้างนโยบายวัฒนธรรมในปีนี้ 12 กันยายน ยกเลิกระเบียบคำแทนชื่อ คำรับ และคำปฏิเสธ 18 กันยายน ยกเลิกการบังคับสวมหมวก เลิกการห้ามกินหมาก และให้เสรีภาพในการแต่งกาย 2 พฤศจิกายน เลิกเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทยและตัวสะกดการัตน์ (อักขระวิบัติ) 31 ธันวาคม ออกแถลงการณ์ให้มีการ คืนบรรดาศักดิ์ขุนนางและข้าราชการได้ตามใจสมัคร [84]

- 20 กันยายน ประกาศอภัยโทษให้กับนักโทษการเมืองเกี่ยวกับกบฏจลาจลต่างๆ ทำให้นักโทษการเมืองทั้งหมดตั้งแต่กบฏบวรเดชจนถึง กบฏพ.ศ.2481 ได้รับการปล่อยตัว

ท้องถิ่น

- เมื่อ พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่2) พ.ศ.2487 ออกมารัฐบาลก็ได้ตรา พระราชกฤษฎีกาขยายกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2487 ให้อยู่ในตำแหน่งไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2489 [85]

..............................................

2488

การเมือง

- 9 พฤษภาคม รัฐบาลออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหากบฏที่ผ่านมา ให้พ้นมลทินเหมือนกับว่า ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน [86]

- 15 สิงหาคม ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม วันต่อมา ไทยประกาศสันติภาพ และอธิบายว่าการประกาศสงครามของจอมพล ป.พิบูลสงครามต่อ อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะเพราะ

เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนไทย และฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง

รัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง

และแสดงเจตจำนงว่าพร้อมจะร่วมมือกับสหประชาชาติทุกทาง [87] และในเวลาต่อจึงได้ถือว่า วันที่

16 สิงหาคม เป็น วันสันติภาพไทยเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับ

ประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหา [88]

- 17 สิงหาคม รัฐบาลควง ที่ถือว่าร่วมมือกับญี่ปุ่น ก็ลาออกเพื่อเปิดทางให้เสนีย์ หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เป็นนายกฯ ระหว่างที่เสนีย์ยังไม่กลับมาถึง ได้มอบหมายให้ ทวี บุณยเกตุเป็นนายกฯรักษาการชั่วคราว 17 วัน [89]

- กันยายน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากปรีดี ในตอนนั้น ควง ไม่เห็นด้วย ปรีดีต้องการให้สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือเพื่อช่วยลดข้อผูกมัดทางสัญญาจากฝ่ายอังกฤษ และยังเป็นการประสานรอยร้าวระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายนิยมเจ้า เพื่อสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ การหนุนเสนีย์ ยังหมายถึงว่า คณะราษฎรมิได้กีดกันเชื้อพระวงศ์อีกต่อไป [90]

- พฤศจิกายน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ สุวิชช พันธเศรษฐ สอ เสถบุตร รวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า พรรคก้าวหน้า ถือเป็นพรรคการเมืองแรกสุดในยุคประชาธิปไตย ถือว่าเป็นพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ขณะที่กลุ่มพลเรือนใกล้ชิดปรีดีโดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.ประเภทที่ 1 ที่เป็นเสรีไทย และฝ่ายคณะราษฎร ก็ร่วมกันตั้ง พรรคสหชีพ[91]

วิถีชีวิต

- ฉลอง สุนทราวาณิชย์ อธิบายว่า ช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด ตลาดพระเครื่อง ขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง และต่อมามีการทำตำราเกี่ยวกับพระเครื่องมากมาย ที่สำคัญเช่นหนังสือชุด เบญจภาคีจนทำให้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องกลายมาเป็น ศาสตร์ในที่สุด[92]

..............................................

2489

การเมือง

- การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม ควง อภัยวงศ์ เป็นผู้ก่อการพ.ศ.2475 คนแรกที่ได้เป็น ส.ส.ประเภทที่ 1 แต่ปรีดีไม่ได้สนับสนุนควง ให้เป็นนายกฯ จึงสันนิษฐานว่าเพราะเหตุดังกล่าว ทำให้ควง และปรีดี แตกแยกกันนับแต่นั้น แม้ควงจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากปรีดี แต่การลงคะแนนเสียงในสภาฯ ควงชนะ ดิเรก ชัยนามที่ปรีดีสนับสนุน และจัดตั้งรัฐบาล ภายในคณะรัฐบาลชุดนี้มีการแต่งตังฝ่ายขุนนางเก่าเข้าร่วมและควบคุมตำแหน่งสำคัญ เรียกได้ว่า เป็นรัฐบาลชุด รื้อฟื้นขุนนาง นับเป็นรัฐบาลที่มีขุนนางเก่าเป็นองค์ประกอบมากที่สุดนับแต่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา พ.ศ.2480 [93] นอกจากนั้นการฟื้นฟูอิทธิพลของฝ่ายนิยมเจ้าขุนนางเก่านั้น แสดงอิทธิพลอยู่ทาง ปีกขวา ของขบวนการเสรีไทย เป็นเสมือน คลื่นใต้น้ำ ทั้งที่ปรีดีเอง หวังว่าจะสมัครสมานสามัคคีกันได้ แต่กลุ่มนิยมเจ้านี้เองที่ถือเอาปรีดี พนมยงค์เป็นเป้าหมายในการโจมตี และสำเร็จอย่างยิ่งในกรณีสวรรคต ซึ่งจะกล่าวต่อไป [94]

- 7 กุมภาพันธ์ รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐบาลชุดแรกหลังพ.ศ.2475 ที่ตัด หลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรออกจากนโยบายรัฐบาล [95]

- 18 มีนาคม ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขันเข้าสู่สภาฯ รัฐบาลค้านอย่างรุนแรง แต่พ.ร.บ.นี้ก็ชนะในการลงคะแนนด้วยคะแนนเสียง 65 ต่อ 63 นายกฯควงจึงลาออก จากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้มีการตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยการรวบรวมส.ส.ที่คัดค้านปรีดีมารวมกัน แม้กระทั่ง คึกฤทธิ์ ปราโมชก็ยุบพรรคก้าวหน้ามารวมด้วย ทั้งยังทำให้เกิดการแตกตัวของคณะราษฎรมากยิ่งขึ้น เพราะมีหลายคนเข้าร่วมกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ [96]

- 25 มีนาคม ปรีดีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี [97]

- เมษายน กลุ่มส.ส.ประเภทที่ 2 รวมกลุ่มเป็นแนวร่วมสนับสนุนปรีดี และยึดแนวทางของคณะราษฎรเป็นนโยบาย โดยชื่อว่า พรรคแนวรัฐธรรมนูญ [98]

- รัฐบาลปรีดี เร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตกค้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามยุติให้บรรลุ จนกระทั่งสำเร็จลุล่วง ในวันที่ 9 พฤษภาคม รัชกาลที่ 8 ทรงทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข พ.ศ.2489 โดยมีหลักการสำคัญก็คือ ยกเลิกสมาชิกสภาประเภทที่ 2 (แต่งตั้ง) ให้รัฐสภามี 2 สภา คือ พฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร ให้มีเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง และยกเลิกมาตรา 11 ที่กำหนดให้เชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่อยู่เหนือการเมือง และกำหนดให้ทหารและข้าราชการ เป็นกลางทางการเมือง ระบุให้สมาชิก พฤฒสภา สภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีว่า ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ถือว่าเป็นมาตรการร่วมของฝ่ายพลเรือนที่มุ่งสร้างหลักประกันด้านกฎหมาย ไม่ให้ระบอบเผด็จการทหารฟื้นคืนชีพกลับมา [99]

- ปัญหาขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับคณะราษฎร ก็คือ การโจมตีรัฐบาลปรีดีเรื่องการใช้จ่ายเงินและอภิสิทธิ์ของฝ่ายเสรีไทย ว่านำไปใช้ในทางส่วนตัว แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อสอบสวนก็รายงานว่าใช้จ่ายเงินไปโดยสุจริต หรือการจินตนาการถึงบทบาทและที่มาของสภาสูง หรือพฤฒสภาที่ไม่เหมือนกัน ประกอบกับการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งพฤฒสภา ทำให้ฝ่ายนิยมเจ้าในพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจอย่างยิ่ง [100]

- 9 มิถุนายน เกิดกรณีสวรรคตปริศนา รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต พระชนมายุได้ 21 พรรษา หลังจากนั้น รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระชนมายุได้ 19 พรรษา สำนักพระราชวังเป็นผู้ออกคำแถลงการณ์เมื่อวันเดียวกันว่า

ได้ความสันนิษฐานว่า คงจะจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิด

อุปัทวเหตุขึ้น [101]

- กรณีนี้พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดในเหตุการณ์เลย เป็นกลุ่มแรกสุดที่ออกมาเคลื่อนไหวในกรณีนี้ โดยเผยแพร่ข่าวว่า การสวรรคตมาจากเหตุปลงพระชนม์ (ลอบสังหาร) พรรคประชาธิปัตย์ได้นำไปเป็นประเด็นในการหาเสียง [102]

- 12 กรกฎาคม รัฐบาลแก้ไขสถานการณ์โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินและตรวจข่าว และจับส.ส.ฝ่ายประชาธิปัตย์ 3 คน คือ โชติ คุ้มพันธ์ ประยูร อภัยวงศ์ และเลียง ไชยกาล ในข้อหาว่า ให้ร้ายกรณีสวรรคต ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า

นายเลียง ไชยกาล (ประชาธิปัตย์) ที่หลูกน้องไปตะโกนว่า ปรีดีฆ่าในหลวง ในโรง

ภาพยนตร์ และคึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการใส่

ร้ายนี้ด้วย [103]

- แม้กระทั่งในเป็นที่กล่าวขวัญในบทลิเก ก็ยังมีการกล่าวกรณีสวรรคตด้วย

- 5 สิงหาคม การเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่าฝ่ายปรีดีก็ยังชนะ แต่ปรีดีประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และหัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 24 สิงหาคม สมัยรัฐบาลถวัลย์ เกิดความยุ่งยากหลายประการตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามที่นำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ขาดแคลนข้าว และเกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางรัฐบาลก็ไม่สามารถคลี่คลายได้ ส่วนกรณีสวรรคต ก็ยังทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลตกต่ำ ขณะที่รัฐบาลพยายามให้เสรีภาพเต็มที่ ทั้งการที่เสนอยกเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ เมื่อ 3 กันยายน และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ใจกว้างที่จะถ่ายทอดทั่วประเทศให้ประชาชนได้รับฟัง เมื่อ 19-27 พฤษภาคม 2490 อีกด้วย [104]

- 12 กันยายน ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ยกเลิกกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 [105]

ท้องถิ่น

- แม้สมาชิกสภาเทศบาลจะหมดอายุลง แต่รัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะให้เทศบาลจัดการเลือกตั้งได้ จึงตรา พระราชกฤษฎีกาขยายกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2489 โดยขยายเวลาไปถึง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2490 และขยายเวลาไปจนถึง มีนาคม พ.ศ.2491 จึงจะเปิดให้มีการเลือกตั้งขึ้น หากจะตีความว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลครั้งสุดท้ายคือ พ.ศ.2486 แล้วการได้เลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้หายไปถึง 5 ปี [106]

..............................................



[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 2500)

(กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2550), น.21-22

[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์), 2540, น.326

[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.326

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[5] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.16

[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[11] วัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543, น.53

[12] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.58

[13] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.58

[14] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.66

[15] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.385

[16] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.26

[17] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.327

[18] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.25

[19] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.74

[20] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.372-373

[21] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.42

[22] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.328

[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.26

[24] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.74-75

[25] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.26

[26] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร?” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, น.90-91

[27] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.80-81

[28] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.82

[29] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.328

[30] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.26

[31] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.328

[32] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.328

[33] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, น.328

[34] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.29

[35] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม : การก่อรูปของแนวความคิดและความหมายทางการเมือง ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมือง ในการปฏิวัติสยาม 2475, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน),2546,น.392

[36] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.23

[37] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.27-28

[38] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหาร : รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 2481-2487” ใน จอมพล ป.พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์), 2544, น.368

[39] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.86

[40] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.90

[41] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.27-28

[42] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.373

[43] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป.ฯ ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมือง ฯ, 2546, น.392

[44] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป.ฯ ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมือง ฯ, 2546, น.392

[45] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.370

[46] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.373

[47] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.391-392

[48] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.386

[49] ดูเชิงอรรถ สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.93

[50] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.31

[51] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.372

[53] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.29

[54] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.390-393

[55] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.393

[56] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.385

[59] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป.ฯ ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมือง ฯ, 2546, น.392

[60] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.30

[61] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.30-31

[62] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.31

[63] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.32

[65] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.34-35

[66] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.33

[67] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.35-37

[68] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.388

[69] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.363-364

[70] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.32-33

[71] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.35

[72] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.32

[73] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.33

[74] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.386

[75] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.388

[76] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.36

[77] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารฯใน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯ, 2544, น.385

[78] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.98

[79] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.101

[80] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.38

[81] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.38

[82] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.38-39

[83] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.39

[84] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.43

[85] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.105

[86] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.43

[87] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.45

[89] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.45

[90] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.45

[91] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.47

[92] ประชาไท. รายงาน : จตุคามรามเทพสินค้าของผู้ต้องการบริโภคศรัทธา [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=7877&Key=HilightNews

[93] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.48

[94] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.53

[95] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.49

[96] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.49-50

[97] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.49

[98] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.51

[99] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.51

[100] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.52-56

[101] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.56

[102] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.56

[103] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.56

[104] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.57-58

[105] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.273-274

[106] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.105